PV in the News 1056 Views

สื่อพม่าเผย รัฐบาลอ้างโควิด-19 ทำลายกลุ่มชาติพันธุ์ ลิดรอนสิทธิ-เสรีภาพ

June 4th, 2020  •  Author:   Prachatai  •  1 minute read

สื่อโปรเกรสซีฟวอยซ์เมียนมาร์นำเสนอรายงานเรื่องที่กองทัพพม่าฉวยใช้ข้ออ้างเรื่องโรคระบาดโควิด-19 ในการกดขี่ชุมชนชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ นักสิทธิมนุษยชน และสื่อในพม่า ไปพร้อมๆ กับการฉวยโอกาสผลักดันวิสัยทัศน์ในแบบที่จะปล่อยให้กองทัพมีบทบาทเชิงอำนาจทางการเมืองอย่างถาวร

ภาพประกอบรายงานของโปรเกรสซีฟวอยซ์ (ที่มา: Progressive Voice Myanmar)

4 มิ.ย. 2563 รายงานของสื่อโปรเกรสซีฟวอยซ์ซึ่งออกมาเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 รวบรวมข้อมูลจากรายงานสื่อ ถ้อยแถลงภาคประชาสังคมและรัฐบาลตั้งแต่ 23 มี.ค. จนถึงวันที่ 10 พ.ค. ที่ผ่านมาในเรื่องเกี่ยวกับยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาโรคระบาดโควิด-19 สถานการณ์สงครามกลางเมืองที่ตึงเครียดมากขึ้น และการไม่ยอมรับเสียงต่อต้านที่อยู่ในระดับอันตรายขึ้นเรื่อยๆ

ในรายงานระบุว่าทางรัฐบาลพม่าเริ่มประกาศ 3 เรื่องใหญ่ๆ พร้อมกันในวันที่ 23 มี.ค. ได้แก่ หนึ่ง การประกาศยืนยันว่ามีการระบาดของโควิด-19 ในพม่าอย่างเป็นทางการ สอง ประกาศให้กลุ่มติดอาวุธอาระกันอาร์มี (AA) หรือกองทัพยะไข่เป็นกลุ่มก่อการร้าย สาม คือออกคำสั่งให้กระทรวงโทรคมนาคมและขนส่งของพม่าบล็อกเว็บไซต์ที่อ้างว่าเป็น “ข่าวปลอม”

คำประกาศเหล่านี้กลายเป็นเครื่องมือที่กองทัพพม่าใช้ปิดปากหรือจับกุมผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์พวกเขา สื่ออิสระของกลุ่มชาติพันธุ์ที่รายงานความขัดแย้งจากพื้นที่สู้รบต่างก็ถูกปิดกั้น มีการฟ้องร้องดำเนินคดีกับบรรณาธิการสื่อเหล่านั้น เมื่อพิจารณาจากลักษณะการปราบปรามผู้คนที่ถูกให้ร้ายว่าเป็นศัตรูของกองทัพพม่าเหล่านี้แล้ว ดูเหมือนว่ากองทัพพม่ากำลังขู่เตือนคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ให้ระวังว่าจะกลายเป็นเป้าหมายใหม่ของมาตรการปราบปรามนี้

รายงานของโปรเกรสซีฟวอยซ์ใช้ข้อมูลจากสื่อทั้งจากต่างประเทศ สื่อท้องถิ่น รวมถึงสื่ออิสระของชนพื้นเมืองที่มักเป็นพื้นที่ในการให้ข้อมูลด้านปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผลกระทบจากวิกฤตการเมืองและโรคระบาด แต่ก็มักถูกรัฐบาลอ้างว่าเป็นข่าวปลอมและบล็อกการเข้าถึง

มีการตั้งข้อสังเกตอีกว่าไม่กี่วันหลังการประกาศดังกล่าว กองทัพพม่าก็กลายเป็นกลุ่มผู้นำคณะกรรมาธิการโต้ตอบภาวะฉุกเฉินของโควิด-19 ซึ่งไม่มีตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขเลย แถมกองทัพยังให้อำนาจตัวเองในการดำเนินคดีใครก็ตามที่พวกเขากล่าวหาว่า “เผยแพร่ข้อมูลเท็จ” รวมถึงเมื่อพรรครัฐบาลเอ็นแอลดีลงนามยอมรับการจัดตั้งคณะกรรมการโควิด-19 ที่มาจากทหารนี้แล้วก็กลายเป็นการปูทางให้กองทัพพม่าอ้างกุมอำนาจและปฏิบัติการลิดรอนสิทธิเสรีภาพโดยอาศัยข้ออ้างเรื่องการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ต่อไป

ท่าทีของรัฐบาลพม่ายังเป็นการจุดชนวนให้เกิดความเสียหายจากการสู้รบที่รุนแรงขึ้นในพื้นที่รัฐยะไข่และรัฐฉิ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ขัดแย้งอยู่แล้ว ในช่วงระหว่างไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีประชาชนมากกว่า 30,000 รายพลัดที่อยู่อาศัยจากความรุนแรง มีพลเรือนอย่างน้อยเสียชีวิต 40 ราย จากความรุนแรง อดีตผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในพม่า ยางฮี ลี ระบุว่าการที่กองทัพพม่าโจมตีพลเรือนในช่วงโรคระบาดหนักน่าจะเข้าข่ายอาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

โปรเกรสซีฟวอยซ์ระบุอีกว่า ตลอดช่วงการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลพม่าพยายามสร้างเรื่องเล่า อ้างว่าพวกเขาใช้ทรัพยากรทั้งหมดไปกับการดูแลชุมชนที่มีความเสี่ยงและกล่าวหาว่ากลุ่มชาติพันธุ์พยายามทำลายเสถียรภาพดังกล่าว แต่ในความจริงแล้วกลุ่มชาติพันธุ์มีการดำเนินโครงการต่อต้านไวรัสในพื้นที่ด้วยตัวเองเพราะไม่มีความช่วยเหลือใดๆ จากภาครัฐ และภาครัฐกลับพยายามขัดขวางด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการกีดกันไม่ให้พลเรือนได้รับความช่วยเหลือทรัพยากรทางการแพทย์จากหน่วยแพทย์กลุ่มชาติพันธุ์ ถึงขั้นมีการทำลายพัสดุทางการแพทย์ตรงหน้าด่านตรวจ

ทั้งนี้ยังมีปัญหาที่ความช่วยเหลือจากนานาชาติมักจะมุ่งส่งไปให้กับรัฐบาลกลางโดยเฉพาะกับกองทัพพม่าที่อ้างว่าทำการแก้ไขปัญหาโควิด-19 แต่องค์กรสาธารณสุขของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ชุมชนจริงๆ กลับถูกละเลยเนื่องมาจากโครงการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในปัจจุบัน

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กองทัพพม่าและรัฐบาลพม่ากดขี่ข่มเหงและใช้ความรุนแรง ภาคประชาสังคมและสหประชาชาติเคยประณามพม่ามานานแล้วในเรื่องที่พวกเขาละเมิดกฎหมายนานาชาติและกฎหมายด้านมนุษยธรรมในช่วงสงครามกลางเมืองตลอด 70 ปีที่ผ่านมา กรณีล่าสุดที่ทางการพม่ากำลังเผชิญการดำเนินคดีจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศคือกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวโรฮิงญาจากความรุนแรงในปี 2560

ถึงแม้จะมีคดีอยู่แต่รัฐบาลพม่าก็ยังคงใช้กำลังรุกรานและปะทะกับหลายกลุ่มแม้แต่ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่มีโรคระบาดนี้กลุ่มภาคประชาสังคมและกลุ่มการเมืองหลายฝ่ายยกเว้นพรรครัฐบาลเอ็นแอลดีเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทั่วประเทศ แต่รัฐบาลพม่าก็เพิ่งจะยอมให้มีการหยุดยิงเมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่่ผ่านมานี้เอง โดยเป็นข้อตกลงที่ยังคงมีข้อยกเว้นบางส่วนคือในพื้นที่ที่มีการสู้รบหลักๆ อยู่แล้ว

ประเด็นหลักในรายงานของโปรเกรสซีฟวอยซ์คือเรื่องที่กองทัพฉวยโอกาสอ้างเรื่องโควิด-19 ในการปิดปากประชาชนและใช้ความรุนแรงกับพลเรือนในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยเพื่อดำรงไว้ซึ่งอำนาจนำของชนชาติพม่านับถือศาสนาพุทธเอาไว้ แต่ก็มีอีกประเด็นหนึ่งที่ตั้งข้อสังเกตคือการที่พรรครัฐบาลเอ็นแอลดียังคงทำตัวเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดกับรัฐบาลพม่าอย่างเงียบๆ หรือในความเป็นไปได้ที่แย่ที่สุดคือเป็นพรรครัฐบาลเอ็นแอลดีทำหน้าที่เป็นผู้ให้อำนาจชอบธรรมทางกฎหมายในการที่กองทัพพม่าจะละเมิดสิทธิมนุษยชนไปเรื่อยๆ ในช่วงยามที่มีวิกฤตโรคระบาด


View the original.